Pages

ค้นหา ใน Blog นี้

วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2566

CH1: เติมธรรมชาติให้เด็กน้อย (เตรียมพร้อม..ส่องนก)

"สมองเด็กเป็นอะไรที่อัศจรรย์ เค้าจำชื่อนกลักษณะนกได้เร็วมาก"

เมื่อแม่สายช้อปเริ่มหากิจกรรมนอกบ้านให้เด็กชาย  จะเอาแบบไหนดีที่ลงทุนน้อย สนุก ลูกได้เรียนรู้ และส่วนแม่ได้ท่องเที่ยวไปด้วย  วันนึงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการถ่ายภาพกับเพื่อน แม่แบกกล้อง Cannon ดูจะเก่าๆ กับเลนส์ตัวนึง ที่ใช้ถ่ายภาพรูปลูกเป็นประจำ ในขณะที่เพื่อนก้อแบกเลนส์ตัวยาวมาให้ลอง  โห ภาพสวยผิดกัน แต่ต้องถอยหลังไปซะไกลกว่าจะถ่ายรูปลูกครึ่งตัว แถมทั้งกล้องทั้งเลนส์หนักเอาการ ในใจแอบติดใจภาพที่ได้อยู่ไม่น้อย  เลนส์แบบนี้เค้าใช้ทำไร ถ่ายเด็กไกลขนาดนี้ คงวิ่งจับลูกมะทัน  สรุป เพื่อนเป็นสายเทเลถ่ายนก ฟังกิจกรรมถ่ายนก น่าสนใจอยู่ไม่น้อย  เจ้าตัวหกขวบนั่งฟังแต่สายตาจับจ้องอยู่ที่กล้องเลนส์ยาวๆ ของใหม่ที่ไม่เคยเห็น

แล้วเด็กน้อยเริ่มต้นอย่างไรนะ

คิดแล้วต้องรีบทำ คือ การเริ่มต้นที่ดีที่สุด (สำหรับเรา) สุดยอดของการเริ่มต้นดูนกให้เด็กชาย เราเริ่มจาก join กิจกรรม  BCST (Bird Conservation Society of Thailand)  จำได้ว่าเราสมัครร่วมกิจกรรมดูนกที่สวยสิริกิติ์ ดูกิจกรรมผ่าน facebook   กิจกรรมดีๆสำหรับเด็กเทพ  เค้ามีให้เลือกหลายสวน เราเลือกสวนสิริกิติ์เพราะว่าใกล้บ้าน  ไม่ได้เตรียมอุปกรณ์ใดไป สักเจ็ดครึ่งนัดรวมพล แค่เอาความอยากที่จะเรียนรู้พกใส่หัวใจเด็กและผู้ปกครองไป เพียงพอ.. 

ไม่ผิดหวัง เด็กชายมีความสุขมากๆ ทาง BCST ให้ยืมกล้องสองตา(binocular)สำหรับผู้เดินชมทุกคน เอาไว้ส่องดูนกในสวนสิริกิติ์ เด็กชายเดินตามพี่ๆที่ยังเป็นนักศึกษาบรรยายถึงวิธีใช้ เด็กน้อยตั้งใจฟัง ตื่นเต้นน่าดูกับสองตาเพิ่มระยะมอง เค้าเรียนรู้ค่อนข้างรวดเร็ว พี่ๆพาเดิน ชี้นกชมนกส่องนก ได้ทั้งเหงื่อ ได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งความสุข  แม่สนุกตื่นเต้นไปด้วย และบางที พี่ๆยังมีคำถามมาถามเด็กๆแจกของรางวัลก่อนกลับ สนุกมากๆ  (ภาพสวยๆจาก BCST)

Bird Walk Password เก็บตราประทับจำนวนที่มาร่วมกิจกรรมตามสวนต่างๆ


เด็กน้อยตัวเล็กน่าจะหกขวบ ป.หนึ่งนะ

เรียนรู้การใช้สองตา

แน่นอน มาถึงจุดนี้ เธอมีความสุขกับการตื่นเช้า ถือสองตา ส่องนก กับพี่ๆในสวนอีกหลายสวนในกรุงเทพ สวนสิริกิต์  สวนรถไฟ  สวนหลวง ร.9  สวนพุทธมณฑล  

อุปกรณ์ดูนกสิ่งแรกลงทุนคือ กล้องสองตา (binocular) สุดคุ้ม ใช้ได้ทุกที่ ไปไหนเห็นไกลกว่าเพื่อน

กล้องสองตา ตัวนี้เป็นตัวที่สอง ตัวแรกซื้อแบบประหยัดมามองเห็นนกแบบลางเลือน ต้องดีต้องชัด


เกิดการเรียนรู้ คิด ค้น วางแผน
เริ่มจากแผ่นพับโบชัว ที่ได้จากการเดินชมนกในสวน จำได้ว่าแผ่นพับนั้นน่าจะเป็นรายชื่อนกในเมือง  สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ เวลาไปไหนเริ่มสังเกตนก ได้ยินเสียงจะมองหา และขานชื่อ ถ้าไม่รู้ก้อจะถามหรือเสาะหา แต่ถามแม่นี่ จบข่าว  แรงบันดาลใจจากพี่ๆ BCST ที่พาชมนกหลายครั้งหลายครา  ทำให้เด็กน้อยอยากเห็นนกอื่นๆที่มากกว่านกในสวน  เด็กชายเริ่มค้นคว้าเรื่องราวของนกจากโลกไซเบอร์  จนถึงวันเกิดตัวเอง ไม่น่าเชื่อ ของขวัญวันเกิดที่เด็กชายได้และมีความสุขมากที่สุดของปีนี้คือ หนังสือนกเมืองไทยจากเพื่อนผู้ชักนำเข้าวงการสายนก เล็งเห็นความพยายามในการดูนก เรียนรู้ขวนขวายด้วยตัวเอง ช่างซักช่างถาม ขนาดขบวนรถไฟที่ชอบมากๆยังจะดูตื่นเต้นน้อยกว่าหนังสือนกเมืองไทย

รู้จักเขาใหญ่ หาเส้นทางไป... 
วันนึงเดินมาบอกแม่ว่า อยากดูนกเงือก อยากให้แม่พาไปดูนกเงือกที่เขาใหญ่ ขอครั้งแรกแม่เฉยๆ รู้สึกไกล และไปไม่ถูก ชมนกในสวนน่าจะพอ ใกล้ ประหยัด ปลอดภัย (รู้สึกตัวเองปิดกั้นน่าดู)  ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น (เคยเห็นเวลาที่ รร ให้เด็กชายเขียนสำนวนประจำใจ) เด็กชายตามมาร้องขออีกหลายที เริ่มมาพร้อมแม่น้ำหลายสายเลย นกเงือกนะแม่เป็นนกตัวใหญ่ที่สวย เมื่อแม่ยังไม่เข้าใจ ลักษณะสำคัญเริ่มมา มีโหนก ตัวใหญ่ ปากแข็ง  เท่านั้นไม่พอ พฤฒิกรรมนกเริ่มมา นกเงือกตัวเมียจะถอดขนตัวเองในโพรง บินไปไหนไม่ได้ พ่อนกต้องหาอาหารมาให้ ดังนั้นถ้าพ่อนกตาย แม่นกจะตายไปด้วย  ฟังบ่อยๆเข้า จากผู้หญิงไอที สมองมีแต่ if then else ต้องพลิกชีวิตเลยทันที ใช้เวลาหลังลูกหลับนิดเพื่อส่องดูว่า นกเงือกหน้าตาเป็นไง ทำไมต้องไปเขาใหญ่  เมื่อเห็นหน้านกเงือก เอ่อ มีนกแบบนี้ด้วยไม่เคยเห็น  จะรออะไร ไปเลยดีมั้ย  ว่าแต่ไปไง ในชีวิตไม่เคยไป ไปไงนะเขาใหญ่   รีวิวสิคะ อ่าน อ่าน อ่าน  (แม่สายใจร้อน)

อุปกรณ์ดูนกสิ่งที่สอง.. หนังสือนกเมืองไทย เป็นจุดกำเนิดเริ่มต้นการหาหนทางไปที่ต่างๆในประเทศไทย  คุ้มมาก เล่มนี้
รู้จักหลายนกทั้งชื่อลักษณะก่อนจะเห็นตัวจริงจากเล่มนี้ ใช้งานหนักมากแต่ ปอหนึ่ง


หน้านี้อย่ามองข้าม ที่มาของการหาอุทยานมาให้แม่พาไป ภูมิศาสตร์ประเทศไทยคล่องมาก วิชาสังคมแบบชิล  ชิล


อัศจรรย์เด็กน้อย

ชมนกในสวนจาก BCST เหมือนวันเปลี่ยนโลกให้เด็กชาย (และแม่ด้วย) ตั้งแต่วันนั้นเมื่อเด็กน้อยเห็นนก เด็กน้อยจะขานชื่อ แม่เริ่มสังเกตตัวเอง ในชีวิตที่เรียกถูกสุดชัวร์มีแค่นกกระจอก ส่วนนกเขา นกเอี้ยง นกพิราบที่เห็นกันบ่อยๆ เริ่มแยกแยะได้ที่อายุนี้ แต่ที่ทึ่ง เด็กชายไม่ได้เรียกแค่นกเขา แต่จะมี นกเขาใหญ่ นกเขาไฟ นกเขาอะไรมากมากย ที่รอยหยักในสมองแม่อาจไม่พอที่จะจำ ทุกวันนี้ แม่สนุกกับการชักชวนของลูกให้ไปดูนกต่างๆตามธรรมชาติ

สมองเด็กเป็นอะไรที่อัศจรรย์ เค้าจำได้ชื่อนก ลักษณะนก ถิ่นที่อยู่ ทำได้เร็วมาก 

แน่นอน สิ่งที่ได้จาก BCST คงไม่ใช่แค่ดูนก หานก ขานชื่อนก เด็กน้อยเรียนรู้ที่ความสำคัญของสัตว์ปีกตัวเล็ก เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหวงแหนสิ่งสวยงามที่ธรรมชาติสร้างมา มีความเมตตา ... สร้างให้คนเป็นคน

ขอบคุณ BCST ... 


 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น